มหากาพย์ เตรียมงานแต่งงาน #MaliMeekob (11) – ชุดแต่งงาน

ตอนที่ 11
ชุดแต่งงาน

.

.
และแล้วก็มาถึงชุดแต่งงานจนได้
ของผู้ชายน่ะไม่เท่าไหร่ ของผู้หญิงสิเรื่องมากกว่า
ดังนั้น ขอโฟกัสของผู้หญิงเป็นเอก ของผู้ชายเป็นโท นะ

.

.
การที่จะได้ชุดมาใส่ในวันแต่งงาน ก็ทำได้ห้าแบบ

.

ยืมชุดมาฟรี

ถ้าเกิดมีชุดมรดกตกท่อ หรือมีใครให้ยืมมาฟรี แล้วดันโชคดี ใส่ได้
โอกาสเป็นของเราแล้ว ฟรีจัง ตังอยู่ครบ ยกเว้นว่าใส่แล้วมันจะไม่เกิดจริงๆ

.
เช่าเอา

เป็นโมเดลที่ประหยัดสุด ถ้าไม่รวมว่าได้ชุดมาฟรี หรือได้เงินมาตัดชุดฟรีๆ
เราสามารถที่จะหาชุดแต่งงานมาเช่าใส่ได้ในราคาเริ่มต้นประมาณ 3000 บาท
แล้วแต่แพ็กเกจ สภาพของชุด และแบบของชุด
ลมปากของเซลล์ ความหูหนักของเรา และความเหนือชั้นในการเจรจา
ข้อดีคือ ประหยัด อย่างที่บอก
ข้อเสียคือ มันก็มีให้เลือกเท่าที่เขามีนี่แหละ ถ้าถูกใจเราก็ดีไป
(แต่ละร้าน จริงๆเขาก็มีให้เลือกเยอะอยู่แหละ)
และสภาพก็แน่นอน อาจจะมีเยินบ้าง
ถ้ายิ่งถูก ก็อาจจะแปลว่ายิ่งใช้มาแล้วหลายมือ ก็จะยิ่งเยิ่นต๊ะหัว
เพราะชุดแต่งงานมันเป็นชุดลุยพอตัวนะ ยิ่งชุดยาวๆ
ความยาวจะทำให้โดนแขกหลายร้อยคนเหยียบ แถก เกี่ยว ลากถู งานๆนึงไม่ใช่น้อย
ชุดที่ใช้มาหลายมือ ก็เท่ากับแก้ไซส์เข้าๆออกๆอยู่หลายหน
แต่กระนั้น หลายๆคนอาจจะโอเคกับความเยินระดับหนึ่ง
ซึ่งถ่ายรูปแล้วอาจมองไม่เห็นความเยินนั้น ก็โอเค

.
ตัดเช่า

เป็นโมเดลที่เหมาะกับว่าที่ที่มีไอเดียในใจและชุดในร้านไม่สามารถทดแทนได้
หรือได้ไอเดียจากชุดในร้านผสมๆกันกับไอเดียเดิมที่อยากได้
ข้อดีก็คือ แน่นอน ได้ใส่ชุดเป็นคนแรก
ซึ่งเราว่า ว่าที่เจ้าสาวหลายๆคน ถ้าเลือกได้ เขาก็อยากใส่ชุดเจ้าสาวชุดนั้นเป็นคนแรกนะ
เพราะการได้ใส่คนแรก หมายถึงการตัดมาพอดีสำหรับเจ้าสาวคนนั้น สร้างมาเพื่อคนๆนั้น
มันให้เซนส์ความเป็น “ชุดแต่งงานของฉัน” อย่างชัดเจนกว่า
ราคาการตัดเช่า ก็หลากหลาย อยู่ที่แบบ ผ้าที่ใช้ และ accessories บนตัวผ้า
ถ้าแบบเรียบๆเลย ใช้ผ้าเรียบๆไม่มีลาย แบบชุดแต่งงานเรโทรๆหน่อย
หรือมีลายน้อยแบบไม่บอกไม่รู้ว่าเป็นชุดแต่งงาน ไม่มีโครงแบบชุดแต่งงานปรกติ
ซึ่งแบบพวกนี้ มักหาไม่ได้ในชุดแต่งงานที่ให้เช่า
ก็อาจจะเริ่มที่หมื่นปลายๆแบบฝีมือโอเคก็ยังได้ (แต่หายากอยู่)

โดยทั่วไปเท่าที่หาข้อมูลมา ชุดแต่งงานแบบเบสิค ดูแล้วรู้ว่าชุดแต่งงาน
การตัดเช่า ปัจจุบันมักจะเริ่มอยู่ที่เรทประมาณ 24,000 – 30,000 บาท
ถ้าแบบยิ่งมีการปัก มีการแปะลูกไม้มาก ราคาก็จะกระโดดดึ๋งขึ้นไปอีก
ซึ่งนับว่า เป็นงบประมาณที่ไม่ต่ำ สำหรับว่าที่เจ้าสาวชนชั้นกลางทั่วไปที่เก็บเงินแต่งงานเอง
แต่มันก็ยังถูกกว่าการตัดซื้ออยู่เยอะ ถ้าชุดเป็นแบบเดียวกันเป๊ะๆ
เราก็ยังเชื่อว่าหลายๆคนอาจจะหาที่ตัดชุดได้ถูกกว่านี้ ถ้าไม่ใช่ร้านตัดชุดแต่งงานโดยเฉพาะนะ
แต่ถ้าจะเน้นเอาถูก แต่ยังขอเป็นชุดแต่งงานที่เป็นชุดแต่งงานจริงๆ เราแนะนำให้เช่าเอาจะดีกว่า
เพราะการที่ไปหาช่างที่ราคาถูกเกิน ให้มาทำชุดแต่งงานเบสิคล่ะก็
โอกาสล่มจะมีสูง เพราะชุดแต่งงานมีรายละเอียดมากเกินชุดธรรมดา

.
ตัดซื้อ

แน่นอน แบบของเรา ตัดเพื่อเรา ฟิตตัวเรา เสริมจุดเด่นกลบจุดด้อยของเรา
ไม่มีอะไรจะให้เซนส์ความเป็น “ชุดแต่งงานของฉัน” ชัดเจนได้อีกไปกว่าข้อนี้แล้ว
เราก็ต้องแลกกับความรู้สึกนี้ด้วยเงินที่มากกว่าการตัดเช่า ประมาณหนึ่งเลยแหละ
มากพอที่จะให้เราลังเลว่า เราจะประหยัดเงินลงด้วยการปล่อยเช่า
ให้ร้านไปรับความเสี่ยงเองว่าชุดจะมีคนเช่าต่อหรือไม่มี
(จริงๆทางร้านก็คงไม่ได้เสี่ยงอะไรมากมั้ง นอกจากแค่เปลืองพื้นที่เก็บชุดขึ้นมาอีกหนึ่ง)
แต่สำหรับบางคนที่ไม่สบายใจเลยถ้าจะมีใครมาใส่ชุดซ้ำกับตัวเอง
ก็จ่ายเพิ่มไป หรือถ้าขนหน้าแข้งไม่ร่วง ก็จ่ายๆไป ได้ชุดกลับบ้านมากอดนอนทุกคืน
ซึ่งราคาตัดเช่า กับ ราคาตัดซื้อ อาจจะห่างกันเป็นหมื่น ก็เลือกดูเอาตามอัธยาศัยละกัน

.
ตัดเอง แม่หรือญาติตัดให้

กิ๊บเก๋ยูเรก้าที่สุด แต่ถ้ารอบตัวตัดเป็นเองคนเดียว คนอื่นไม่รู้เรื่องการตัดเย็บโดยสิ้นเชิง
ชีวิตก็ลำบากขึ้นนะ ก็ตอนลองชุดแหละ
ข้อนี้ ยกมาขำๆ แต่เอาเข้าจริงๆ ก็มีคนทำจริงๆนะเอ้อ
แต่ทางเลือกนี้ ผลที่ได้มักจะไม่ใช่ชุดแต่งงานที่เป็นชุดแต่งง้านนน ชุดแต่งงาน
ส่วนราคา ก็เท่าต้นทุนค่าเดินทางไปซื้อของ ค่าเวลา ค่าผ้า ค่าตัว ของตัวเองนี่แหละ

.

.

.

ชุดแต่งงานนี่ เรื่องมาก
ทั้งๆที่เอาเข้าจริงก็มีตัวเองจำได้คนเดียวนี่แหละว่าใส่ชุดแบบไหน
(เผลอๆนานๆไป ก็จำไม่ได้ด้วย แฮ่)

.

เมื่อตอนที่เราหาไอเดียชุดแต่งงานแรกๆ โดยที่ยังไม่ได้ไปลองชุด
ชุดนั้นก็สวย ชุดนี้ก็สวย สวยไปหมด ละลานตา
แต่พอนึกขึ้นได้ว่า นางแบบพวกนี้ ใส่อะไรก็สวยไปหมดแหละ
ก็จ๋อย ค่อยๆกลับมาดูสังขารตามความเป็นจริงไป

.

ยิ่งคนหุ่นไม่เป๊ะ ยิ่งเลือกง่ายนะ เราว่า
เพราะข้อจำกัดมันเยอะ ไม่ใช่ว่าใส่อะไรก็สวย
อย่างเรานี่ เห็นเหมือนตัวจะเล็กเพราะแขนขาเล็ก
แต่พอใส่อะไรระบายเยอะๆ ดีกรีแหนมมัดก็จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
แต่ก็นั่นแหละ บางทีเห็นสวยก็อยากใส่อะนะ

เราจะเริ่มกลับสู่ความเป็นจริง และขอบเขตที่ควรจะเป็น
เมื่อเราได้เริ่มลองชุดในร้าน

.

.

.

การลองชุดในร้าน เราว่า ว่าที่เจ้าสาวทุกคนควรจะทำนะ
ถึงแม้ว่า จะตั้งใจสั่งตัดก็เหอะ
เพราะว่าอะไร เพราะว่า การลองจะทำให้เรารู้ว่าเราเหมาะกับชุดแบบไหนมากที่สุด
และทำให้เราจินตนาการออกว่า ถ้าเราสั่งตัดไปแล้วชุดมันน่าจะออกมาประมาณไหน
การลองชุดที่มีอยู่แล้วในร้านสำหรับว่าที่เจ้าสาว
ทำให้ลดความเสี่ยงในการที่จะเห็น draft แรกของชุดออกมาแล้วผิดหวัง
และช่วยประหยัดเวลาในการแก้งานอีกด้วย

.

.

จริงอยู่ที่ว่าควรจะลองเยอะๆ แต่ก็ไม่ใช่ว่า ร้านมีร้อยชุด เจ๊ก็จะลองร้อยชุดนะ
เจ๊ควรจะมีแนวทางเลือกชุดมาลองอยู่บ้างคร่าวๆ ตามนี้

.

บุคลิก

เป็นคนบุคลิกแบบไหน ใสๆ หวานๆ เก๋ๆ เท่ๆ หรือสับสนในตัวเอง (แบบหลังคงเยอะสุด)
ถ้าบุคลิกเราเป็นแบบหวานๆ แล้วจะเอาชุดเท่ๆ
บางทีมันก็ฝืนตัวเองเกินไป ควรจะใส่อะไรที่เป็นบุคลิกเราเพื่อเสริมให้เด่นขึ้น

.

.

รสนิยม ความชอบ

ข้อนี้มันก็ไปคล้ายๆข้อแรกอยู่เหมือนกัน แต่แยกออกมาก็เพราะว่า
ข้อแรกเหมือนดูจากชุดมาหาตัวเรา เป็นเรื่องอารมณ์ของชุด
ข้อนี้จากตัวเราไปหาชุด (เอ้า งงไปใหญ่) เป็นเรื่องรูปแบบของชุด
คือ สมมติว่า เราเป็นคนหวานๆ ตามข้อแรก เราก็จะ โอเคละ เราควรจะหาชุดหวานๆ
แต่คำว่าหวานๆ ก็ยังมีลักษณะกายภาพแตกต่างไปได้อีกตามรสนิยม
บางคนหวาน แต่ชอบแบบเรียบง่าย บางคนหวานแล้วชอบแบบเยอะๆด้วย
เพราะฉะนั้นเวลาดูชุดแต่งงาน แม้จะให้ความหวานเหมือนกัน
แต่มันก็แล้วแต่ความชอบละ ว่าชอบชุดแบบไหน สีอะไร
ในที่นี้ ถ้าเราเป็นคนหวาน แต่ก็ไม่ชอบใส่อะไรหวือหวาเอะอะมะเทิ่ง
เวลาไปที่ร้าน เราก็อาจจะสแกนหาชุดที่เรียบง่ายหน่อย แต่ยังซ่อนความหวานอยู่
ส่วนชุดแบบที่มันเยอะๆโผ่งผ่างสไตล์โลลิต้า กุหลาบแวร์ซายล์
เราจะได้ไม่ต้องไปเสียเวลาลองมัน (หรือจะลองเพื่อความมัน เผื่อฟลุกสวยก็ไม่ว่ากัน)

.

.
แต่เอาเข้าจริง ว่าที่เจ้าสาวส่วนใหญ่ ก็มีรสนิยมคล้ายๆกันนะ
คือ จะเอาหวานว้านนนหวาน เจ้าหญิง แวร์ซายล์ ขนมถ้วยฟู
จึงไม่ต้องแปลกใจว่า เวลาไปลองชุดร้านไหน
ชุดในร้านนั้นส่วนใหญ่ก็จะไปในแบบนั้น เพราะ demand เยอะกว่าแบบอื่น

บางคนอาจจะแอบงอนแล้ว ทำไมล่ะ ก็ฉันชอบหวานออกนอกหน้า ผิดตรงไหน
ก็ไม่ผิดหรอก ก็แค่รสนิยมเหมือนเจ้าสาวส่วนใหญ่
ข้อดีมากๆก็คือ หาชุดเช่าได้ง่ายกว่ารสนิยมแบบอื่นด้วยล่ะ

.

สังขาร

ข้อนี้ไม่ต้องพิจารณาไปก่อนก็ได้ เดี๋ยวตอนใส่เราก็ต้องพิจารณาตัวเองไปโดยปริยาย
ข้อนี้แหละ ที่จะทำให้กรณีที่ยังมีชุดห้าสิบชุดในร้านที่อยากลองอยู่
เหลืออยู่ไม่กี่ชุดจริงๆที่เข้าวิน
ถึงแม้เราจะรู้จักตัวเองดีกว่าเป็นคนหวาน ชอบชุดเรียบง่าย
แต่เราก็ยังไม่รู้ว่าเราจะเหมาะกับคอปาด เกาะอก สายเดี่ยว แขนสั้น แขนยาว
กระโปรงสั้น กระโปรงยาว อย่างไร
ปัจจัยตัวนี้แหละที่จะทำให้ว่าที่เจ้าสาวกลับมายืนอยู่บนพื้นดินได้มากที่สุด

.

.

ถ้าเราจะสั่งตัดชุด ไม่ว่าชุดไทย หรือว่าชุดสากล
เราควรให้เวลาในเรื่องชุด อย่างน้อย 2 เดือน
ถ้าน้อยกว่านั้น ก็มีทางเลือกไม่มาก
ถ้าไม่ทำแบบเรียบๆไปเลย ก็ควรจะเช่าเอา เพราะถ้าช่างคิวเต็ม ก็มักจะทำไม่ทัน
(ส่วนชุดของชายหนุ่ม ถ้าไม่มีอะไรพิสดาร ก็เดินห้างซื้อเอา หรือตัดตามร้านสูทธรรมดา
อย่างน้อย สองสัปดาห์ก่อนวันงาน ก็พอไหวอยู่)

.

.

ไม่ต้องห่วงเรื่องอ้วนผอม เพราะช่าง(ที่ดี) เขาจะกะให้เราไว้อยู่แล้ว
และเวลาลองแต่ละรอบ เขาก็จะปรับสัดส่วนไปเรื่อยๆ
จนกระทั่งสัปดาห์สุดท้ายที่มารับนั่นแหละ ถึงจะเรียกว่า หล่อนต้องฟรีซหุ่นไว้เท่านี้แล้ว
เพราะถ้าผอมลงก็หลวม อ้วนขึ้นก็อาจปริ รูดซิปไม่ขึ้นได้ (ดังที่เกิดกับเรามาแล้ว)

.

.

.
เมื่อพิจารณาปัจจัยด้านบนแล้ว ก็ถึงเวลาเลือกร้าน
ร้านในที่นี้ อาจจะเป็นสตูดิโอถ่ายภาพที่เขามีแพ็กเกจให้เช่า
หรือร้านขายชุดแต่งงานสำเร็จรูป หรือร้านที่รับตัดและให้เช่าชุดแต่งงานก็ได้
ปัจจัยที่เลือก อยากให้พิจารณา 3 อย่าง

.

แบบชุด ลักษณะบริการ

แบบชุดที่เขามี เท่าที่ดูในเน็ต หรือตามนิตยสาร ชอบหรือเปล่า
ปรกติร้านเขาก็ชอบนำเสนอชุดอยู่แล้ว เพราะนั่นคือจุดขายของเขา
แบบชุดที่เขานำเสนอ ก็แสดงถึงความถนัดของเขาด้วย
ชุดแต่งงานแต่ละแบบ แต่ละเจ้าจะมีความถนัดต่างกันนะ
อย่างบางเจ้าถนัดการตัดแปะลูกไม้ บางเจ้าถนัดปัก
บางเจ้าถนัดแบบอลัง บางเจ้าเน้นคัทติ้ง
บางเจ้าขายอย่างเดียว ไม่มีให้เช่า บางเจ้าให้เช่าอย่างเดียวไม่มีตัด
บางเจ้าตัดสูทเนี้ยบด้วย บางเจ้าไม่รับงานสูทเลย บางเจ้าถนัดอัดพลีทจีบผ้า
เราหาร้านจากแบบชุด ทั้งในเว็บ และในนิตยสารเลย
เพราะบางเจ้า เขาก็ไม่ใช้วิธีโฆษณาบนเว็บ แต่โฆษณาบนนิตยสารแทน

.

รีวิวโดยผู้ที่เคยใช้บริการ

เมื่อเราได้ร้านที่เล็งๆเอาไว้แล้ว เราก็ถือโอกาสดูรีวิวหรือ feedback ลูกค้าเขาไปด้วย
ร้านที่โฆษณาบนสื่อออนไลน์ หรือในเว็บ community ก็มักจะมีรีวิวให้ดูเยอะ
แต่ร้านไหนที่ไม่ได้ลงออนไลน์ รีวิวก็อาจจะแทบไม่มีเลยก็ได้

.

ที่ตั้งของร้าน

โดยทั่วไป กว่าชุดจะเสร็จ เราต้องไปที่ร้านไม่ต่ำกว่าสามสี่รอบ
สำหรับคนที่งานประจำยุ่งๆ หรือหัวฟูกับการเตรียมงานอยู่
จึงไม่ใช่เรื่องสนุกที่จะต้องเสียเวลาเดินทางมากๆโดยไม่จำเป็น
ซึ่งอาจหมายถึงการเสียเวลาทั้งวัน แทนที่จะเป็นครึ่งวัน
ฉะนั้น การเดินทางที่สะดวก จึงเป็นปัจจัยอีกหนึ่งที่จะทำให้เราไม่เหนื่อยเตรียมงานเกินไป
แนะนำว่า ให้ไปหาตัวเลือกที่ไปสะดวกสำหรับตัวเองไว้ก่อน
ถ้าไปแล้วไม่ถูกจริตจริงๆค่อยขยับขยายไปร้านที่ไกลกว่าหรือเดินทางลำบากกว่าได้

.

.

เมื่อได้ร้านแล้ว
ก็อย่าลืมปรินท์แบบชุดที่ชอบไว้ หรือเก็บรูปไว้ในสมาร์ทโฟน(ถ้ามี)
เพื่อเป็น Reference เผื่อเหลือเผื่อขาดได้
และก็ทำการติดต่อนัดเวลากัน ดีกว่าจะ walk-in ไปและเขาติดลูกค้าอยู่
เขาจะได้มีสล็อตเวลาดูแลเราค่อนข้างเต็มที่

.

เวลาไปร้าน ควรมีพยานไปอย่างน้อยอีกหนึ่ง
ไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่ พี่น้อง เพื่อนสนิท หรือว่าที่เจ้าบ่าวเอง
เพื่อให้ไปช่วยดูว่า เห็นชุดแล้วเป็นยังไง เราเหมาะกับอะไร
ซึ่งความเห็นมักจะเป็นกลางมากกว่า
เมื่อไปถึงร้าน ก็ถึงเวลาเลือกชุดมาลองใส่ดูแล้ว
โดยที่ทางร้านเขาจะมาดูมาจับสัดส่วนเราคร่าวๆ (ไม่ต้องถอดผ้านะ)
และช่วยแนะนำชุดด้วย
ตรงจุดนี้คงบอกไม่ได้ว่า ร้านนั้นๆจะเลือกชุดให้เราโอเคหรือเปล่า
ขึ้นอยู่กับว่า เขาต้องการขายอะไรด้วย
ดังนั้น ฟังคำแนะนำของเขาได้ แต่ถ้ามันแย้งกับความรู้สึกฝั่งเรา ก็ต้องพิจารณาดู

.

.

.

ควรพิจารณาอะไรบ้าง

.

พิจารณาว่ามีชุดสวยปิ๊งสำหรับตัวเองไหม

ถ้าไม่มีเลย หรือว่าต้องเค้นความรู้สึกชอบออกมา
ในกรณีที่เราต้องการหาชุดเช่าใส่ ก็เดินออกจากร้านดีกว่า

.

การบริการ ว่าเขาเต็มใจบริการเราหรือเปล่า

ถ้าไม่เต็มใจบริการ หรือบริการทิ้งขว้าง กรุณาเดินออกจากร้านดีกว่า
แต่พวกตะบี้ตะบันชมยันเต ก็น่ากลัว
ถ้าเป็นไปได้ ให้เลือกร้านที่เต็มใจบริการ ไม่ทิ้งขว้าง
ที่สำคัญ พูดตรงไปตรงมาว่าอะไรเหมาะไม่เหมาะกับเรา
จริงๆเชื่อว่า ผู้หญิงจะมีเซนส์จับอวยค่อนข้างสูง ยกเว้นว่า อยากหลอกตัวเอง

.

ฝีมือการตัดเย็บ

ก็ดูว่าเย็บเรียบร้อยรึเปล่า ถ้าในกรณีตัดเช่า หรือตัดซื้อ
ก็คงต้องดูแนวโน้มด้วยว่า เขาสามารถจะทำชุดแบบที่ต้องการได้หรือเปล่า

.

สีของผ้าที่เหมาะกับเรา

ในกรณีที่เช่าชุดที่มีอยู่แล้ว ก็สามารถที่จะเลือกมาทาบตัวได้เลยว่าเวิร์คหรือเปล่า
แต่ในกรณีที่ต้องการตัดชุดใหม่ นอกจากแบบแล้ว สีผ้าและ texture ของผ้าก็มีส่วนสำคัญ
ชุดแต่งงานไม่ใช่มีผ้าแบบเดียวนะ สีขาวของชุดแต่งงานก็ไม่ได้มีโทนเดียว
ถ้าเลือกโทนผิด ก็อาจจะคิดจนลูกสามได้

.

แถมแนวทางการแมทช์โทนผ้าขาวให้ด้วย เก็บตกจาก Personal Color Workshop
โดยอาจารย์มิจิโกะ ทาโอกะ ที่เพิ่งไปดมๆมา

.

ว่าที่เจ้าสาวที่ผิว ผม ออกโทนเหลือง คือใส่พวกสีปนโทนเหลืองหรือสดใสแล้วเกิด เจิด เลิศ
มักเข้ากับผ้าสีขาวโทนออกเหลือง
ว่าที่เจ้าสาวที่ผิวขาวออกชมพู แต่ ผม ตา ออกดำ
ใส่พวกสีปนโทนเหลืองไม่ค่อยเกิด แต่ใส่หวานๆแล้วเกิด
มักเข้ากับผ้าสีขาวนวล คือไม่ขาวจัด ขาวซีดเป็นกระดาษหรือหิมะ แต่ก็ไม่ออกเหลือง
ว่าที่เจ้าสาวที่เป็นคนองค์ประกอบบนใบหน้าชัด เข้ม ตา ผม สีเข้ม ไม่ว่าผิวจะสีอะไร
และไม่เกิดกับเสื้อผ้าโทนเหลืองหรือโทนสดใสวัยสยามแสควร์
มักจะเข้ากับผ้าสีขาวโพลน ขาวจัดๆ ขาวหิมะ ไปเลย

หลักการนี้ ใช้ได้กับชุดไทยเหมือนกันนะ
แต่นอกจากว่าชุดไทยจะมีให้ตัด และ เช่า เหมือนกันแล้ว
ในที่นี้เราก็ขอแบ่งชุดไทยเป็น 3 ประเภท เท่าที่ประสบมา
นั่นก็คือ

.

.

ชุดไทยสำเร็จรูป

มีการตัดเย็บให้สวมใส่ง่ายๆ เหมือนใส่เสื้อ ใส่กระโปรง ตามปรกติ
ชุดไทยแบบนี้ นิยมกันมาก เพราะหาเช่าง่าย ใส่สบาย ใส่เองก็ได้ ไม่หลุด
ราคาก็จะไม่แพงด้วยนะ สามารถหาเริ่มต้นได้ในราคาพันกว่าๆ
หรือถ้าเป็นต่างจังหวัด ก็อาจจะหาเช่าได้ในหลักร้อยเลยล่ะ

แหล่งที่หาได้ นอกจากตามร้านสตูดิโอทั่วไปแล้ว
ก็ยังมีแหล่งชุดแต่งงานที่เขานิยมไปอีก ก็เช่น ถนนตะนาว บางลำภู
เดินให้สาแก่ใจไปเลย
ถ้าแหล่งอื่นๆก็ลองกูเกิ้ลหาดูเอา รับรองมีเพียบ

.

หรือถ้าต้องการซื้อผ้ามาตัด

ที่ดิโอลด์สยาม ร้านสยุมพร ชั้น 2 ก็มีให้ครบถ้วนเช่นกัน
ทั้งผ้าและ accessories (เราก็ได้สร้อย เข็มขัด ต่างหู จากที่นี่แหละ)
ถ้าต้องการผ้าลูกไม้ ก็เชิญร้านชั้น 1 เลย เช่น ร้าน รานี เป็นต้น
ก็เป็นร้านที่เจ้าสาวและแม่เจ้าสาว DIY ไปช็อปเลือกซื้อผ้าทำชุดกัน เช่นกัน

.

ใช้ผ้าไทยทั้งผืนๆแถบๆนี่แหละ

นุ่งได้ทั้งผ้าซิ่นและผ้าโจงกระเบน
พูดถึงข้อเสียก่อน ข้อเสียคือ ถ้าไม่เคยนุ่งมาก่อน นุ่งให้สวยยากโพด
เผลอๆต้องมีผู้เชี่ยวชาญชำนาญการมานุ่งให้ด้วย
ข้อดีก็คือ ถ้าเป็นผ้าไทยฝีมือดี บางทีเขาเอาไว้เก็บสะสมซื้อขายในวงการ เพิ่มมูลค่าได้
แต่การตัดผ้าออกมาเป็นชุดสำเร็จ จะทำให้ค่าของผ้าไทยดรอปลงทันที
คล้ายๆกับทองแท่ง กับทองรูปพรรณ ในแง่ที่ว่า
ถ้าเป็นอะไรที่ยังไม่แปรรูป จะขายง่ายกว่าและได้ราคากว่า
ข้อดีอีกอย่างคือ ได้อนุรักษ์วัฒนธรรมการนุ่งแต่ดั้งเดิม
ข้อดีอีกอย่างก็คือ ผ้าผืนนึงนุ่งได้หลายแบบ flexible มากๆ
ข้อดีข้อสุดท้ายก็คือ ไม่ว่าจะหุ่นเป็นแบบไหน หรือเปลี่ยนไปตามเวลาขนาดไหน
ผ้านุ่งผืนเดิม ก็ยังสามารถจะนุ่งได้ ไม่ต้องโละ

.

.

.

ส่วนแบบของชุดไทย แม้จะไม่หลากหลายเท่ากับแบบชุดแต่งงานสากล
แต่ก็แบ่งได้เป็นสองแบบเช่นกัน จะหยิบมาเท่าที่นิยมกันเนะ

ชุดไทยที่ว่า แบบแรก คือ ชุดไทยพระราชนิยม
ก็คือชุดไทยแบบที่เราใส่ไปงานต่างๆแหละ
และแบบที่สอง คือ ชุดไทยตามรัชกาล
ก็คือ ชุดไทยแบบที่ชาวบ้านระดับนำสมัยเขาใส่กัน

.

ชุดไทยพระราชนิยมที่เหมาะกับพิธีสงฆ์ เนื่องจากมีความมิดชิดปิดหนังหน่อย ได้แก่

.

ชุดไทยเรือนต้น

พบเห็นได้ตามร้านอาหารไทย และบนตัวของอองซานชูจี จริงๆมันเป็นชุดที่สวยนะ
แต่ภาพลักษณ์ที่มันถูกเอาไปใช้ ทำให้ชุดมันไม่รู้สึกว่าเป็นชุดของเจ้าสาวสักเท่าไหร่
(อันนี้ความเห็นส่วนตัว) ชุดไทยเรือนต้นมักใช้ในโอกาสงานที่ไม่ค่อยเป็นทางการมาก
แต่ถ้าใครอยากเป็นเจ้าสาวผู้ต้องการปลดปล่อยการเมืองให้เป็นอิสระอย่างแม่นางอองซาน
โอกาสนี้ เป็นของท่าน (อย่าลืมทำผมมวยต่ำด้วย)

.

ชุดไทยจิตรลดา

พบเห็นได้ตามงานที่คุณหญิงคุณนายต้องไปเข้าเฝ้า หรือไปอยู่ในงานพระราชพิธี
ตามที่เห็นในรายการโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย
ขอบคอตั้งเล็กน้อย แขนยาว เนื้อผ้าเสื้อแอบหรูกว่าแบบไทยเรือนต้น ซิ่นแบบเดียวๆกันได้

.

ชุดไทยอมรินทร์

คล้ายกับชุดไทยจิตรลดา แต่ถ้าเทียบโอกาส จิตรลดาจะเหมาะกับงานเช้ามากกว่า
ส่วนไทยอมรินทร์จะเหมาะกับงานกลางคืนมากกว่า เพราะผ้านุ่งมักมียกทอง
ทำให้ดู หะรู หะรา ขึ้นมาอีก อีกทั้งช่วงกลางคืน สามารถขนทองหรือเพชรทั้งตู้มาประโคมได้
ถ้าว่าที่เจ้าสาวคนไหนอยากใส่ชุดไทยเป็นชุดงานเย็นด้วย ชุดไทยอมรินทร์คือทางเลือกหนึ่ง
คีย์เวิร์ดอีกรอบ คือ เลื่อม ทอง หรู อลัง
หรือว่าจะใส่มันงานเช้าเลย ก็คงไม่มีใครกล้าว่า เจ้าสาวซะอย่าง ใส่ให้สวยก็แล้วกัน

.

ชุดไทยบรมพิมาน

คล้ายกับชุดไทยจิตรลดา กับ ไทยอ่ำอมรินทร์ แต่สามชุดด้านบน การนุ่งซิ่นจะเน้นนุ่งป้าย
ในขณะที่ ชุดไทยบรมพิมาน การนุ่งซิ่น จะไม่ป้ายเบสิค แต่จะมีการจีบหน้านาง
ส่วนความหะรูหะรา ก็ประมาณไทยอ่ำ มีเครื่องประดับตามสมควร เหมาะกับงานเย็นด้วย

.

ชุดไทยศิวาลัย

คล้ายไทยบรมพิมาน แต่แอบเยอะด้วยการห่มสไบเพิ่ม ก็มิดชิดดี
สำหรับบางคนที่หน้าอกเยอะๆ ก็ช่วยเก็บหน้าอกให้ห่างสายตาพระสงฆ์องค์เจ้าได้

.

.

ชุดไทยที่เปิดหัว ไหล่ (แต่ไม่เปิดตูดนะ)
ถ้าใครจะใส่ในพิธีสงฆ์ ก็แล้วแต่ แต่โดยส่วนตัว ไม่แนะนำ
โดยเฉพาะคนขาวอวบ หรือผิวสวยน่ามอง มีหน้าอก มีเชฟบ๊ะ
เพราะเอาจริงๆ ชุดไทยมันเซ็กซี่ใช่เล่นนะ
จะไปเพิ่มภาระปลงอสุภะให้พระสงฆ์ซะเปล่าๆ

.

ชุดไทยจักรี

น่าจะเป็นชุดไทยแบบที่รู้สึกว่ามันไท้ยไทยที่สุด เพราะตรงสไบนี่แหละ
ผ้านุ่งมีจีบ ไม่ป้ายเฉยๆให้มันรู้สึกเบเบเกินไป
สไบทึบ ถ้าห่มดีๆ อาจจะไม่ต้องใส่เสื้อตัวในก็ได้
เสื้อตัวใน อาจจะเป็นเกาะอก หรือว่าเป็นเกาะอกยึดติดกับสไบ เพื่อความง่ายก็ได้
ในกรณีที่เป็นชุดสำเร็จรูป

.

ชุดไทยจักรพรรดิ

แบบเดียวกับไทยจักรีนั่นแหละ แต่หรูกว่า เรื่องมากกว่า
อาจจะมีสไบสองชั้น และยกทอง ใส่เครื่องประดับมากกว่า
ถ้าเยอะเกินอาจจะให้ความรู้สึกเหมือนใส่ไปรำในพิธีเปิดกีฬาซีเกมส์ได้

.

ชุดไทยดุสิต

สายเดี่ยว สายสปาเก็ตตี้ เด็กๆ เขามีมาตั้งแต่สมัยชุดไทยดุสิตแล้ว
ชุดไทยดุสิต มักต้องการความหรู ผ้าที่ใช้ก็จะหรู ยกดิ้นทอง ผ้านุ่งก็จีบเอา
ด้วยความไม่มีแขน คล้ายเสื้อกล้ามหรือสายเดี่ยว
บางทีก็สามารถประยุกต์ใช้ต่างชุดราตรีได้

.

ชุดไทยประยุกต์ – ฟิวชั่น (บางทีก็คอนฟิวชั่น)

คงบอกไม่ได้ว่าชุดไทยประยุกต์เหมาะกับพิธีสงฆ์หรือเปล่า
ต้องแล้วแต่ว่าชุดออกมาเป็นยังไง
ชุดไทยประยุกต์มักเรียกรวมๆ ชุดข้อใดไม่เข้าพวก
ดีไซน์มาแล้วแต่จินตนาการของผู้ออกแบบ

.

.

.

ชุดไทยในหมวดที่สอง ซึ่งแบ่งไปตามรัชกาล ดังนี้

.

รัชกาลที่ 1-3

ท่อนล่างนุ่งโจงกระเบน แอนด์ สไบเฉียงในแบบอยุธยา นึกถึงแม่นกยูง ในเรือนมยุรา ได้เลย
แต่ทรงผมถูกระเบียบในช่วงนั้น ก็ต้องเป็นแบบไว้เชิงสั้น หรือเป็นปีกแสกกลาง

.

รัชกาลที่ 4

ท่อนล่างนุ่งโจงกระเบน ท่อนบนสไบทับเสื้อแขนยาว ผมปีก

.

รัชกาลที่ 5

อิทธิพลแฟชั่นฝรั่งเริ่มเข้ามา
เสื้อคอตั้งแขนยาว ต้นแขนพองคล้ายขาหมูแฮม แต่ก็ยังไทยอยู่ด้วยสไบแพร และนุ่งซิ่นจีบไว้ชายพก
ส่วนทรงผมก็เป็นดอกกระทุ่ม
ตอนปลายรัชกาล เสื้อคอตั้งแขนยาวแถมความเยอะด้วยลูกไม้เป็นชั้นๆตลอดตัว
แต่ท่อนล่างนุ่งโจง ใส่ถุงน่องและส้นสูง ผมยาวประบ่า

.

รัชกาลที่ 6

ผมประบ่า หรือทำเป็นลอน หรือเกล้ามวย
ท่อนล่างเหมือนเดิม แต่เสื้อจากคอตั้งกลายเป็นคอปาด แขนแค่ข้อศอก
หรือเสื้อแขนยาวหลวมๆ มีลูกไม้ตามเคย และใช้มุกเป็นเครื่องประดับ สไบแพร

.

รัชกาลที่ 7 – 8

ผู้หญิงเชิดใส่สไบแพรปัก ผ้าซิ่นแค่เข่า ใส่ถุงน่องบ้าง ส้นสูง
เสื้อทรงกระบอกแขนกุด ผมบ๊อบหรือดัดตามสมัยนิยม

.

รัชกาลที่ 9

แต่งแบบไทยพระราชนิยม ซึ่งก็คือ ชุดที่มีชื่อตามพระตำหนักที่พูดถึงด้านบนนู้นนี่แล

.

.

ส่วนชุดไทยล้านนา ชุดไทยภาคใต้ อีสาน ก็แล้วแต่ประเพณีนั้นๆ
ในที่นี้ยังไม่ได้ค้นข้อมูลมา แต่แค่นี้ก็น่าจะครอบคลุมชุดงานแต่งปรกติละนะ
ส่วนชุดไทยที่เก่ากว่านี้ สมัยอยุธยาตะเบงมานลงไป คงไม่มีใครคิดจะใส่ในวันแต่งงานแล้วมั้ง
(หรือมี?)

.

.

กลับมาถึงเจ้าบ่าวกันบ้าง
ว่าที่เจ้าบ่าวบางคนไม่ค่อยชอบใส่ชุดไทยด้วยนะ
แต่โดยส่วนตัว เราว่า
ผู้ชายคนไหนใส่ชุดไทย (เสื้อราชปะแตน โจงกระเบนหรือสแล็ค) ไม่ขึ้นจริงๆนี่
ถือว่าซวยมากเลยนะ
โดยส่วนใหญ่แล้วจะใส่ขึ้น ใส่แล้วดูเท่ แต่ฝ่ายชายไม่มั่นใจไปเองเพราะไม่เคยใส่

.

ยิ่งหน้าตี๋ๆนะ โอ้โฮ จะบอกใส่ขึ้นกว่าสูทอีก
สูทน่ะของฝรั่ง ถึงแมัมันจะเสริมบุคลิกขึ้นมาเช่นกัน แต่มันก็ไม่ได้ต่างอะไรกับที่ใส่ทุกวัน
ส่วนตี๋ไหนอยากใส่ชุดจีนไปเลย ก็เป็น แป๊ะนี่จ๊ะ กันไปเลย อยากแป๊ะก็เอาอะ
แต่ราชปะแตนนี่ (ถ้าไม่ใช่ชุดสีแบบธงโบกรถไฟ ล่อกระทิง เห็นไปสามบ้านแปดบ้านนะ)
เราว่ามันเป็นเสื้อที่ช่างเสริมบุคลิกผู้ชายให้ดูเท่และเรียบหรูเลยแหละ
ถ้าเป็นผู้ชายหยองกรอดกองก็อย มันก็จะเสริมให้ดูมีความบึกมากขึ้น
ถ้าเป็นผู้ชายอวบกลม มันก็จะช่วยอำพรางความกลมลงบ้าง

.

ชุดไทยของผู้ชายก็มีอยู่ไม่กี่แบบหรอก
มีแขนสั้น กับแขนยาว
แขนสั้นบางทีก็เสี่ยงเหมือนมัคทายก หรือแขกที่มางานไปหน่อย
ปรกติเจ้าบ่าวจึงใช้เสื้อแขนยาว สีขาว หรือสีงาช้าง
(หลักการ match กับสีผิวก็แบบเดียวกับฝั่งเจ้าสาวเลย โทนไหนเกิดให้ใช้โทนนั้น)
ส่วนท่อนล่าง ถ้าเป็นเจ้าบ่าวก้นปอด ผอมแห้ง
แนะนำเป็นสแลคจะดีกว่า
ส่วนเจ้าบ่าวที่มีก้น หุ่นไม่ผอมนัก
ใช้นุ่งโจง ใส่ถุงเท้ายาว จะเข้าท่ากว่า

.

.

.

.

.

.

ยาวจริงๆ ถึงเวลามาเล่าประสบการณ์ส่วนตัวแล้วสินะ
เอ้า ตามมาๆ

.

.

เริ่มจากชุดไทยที่ใช้ในพิธีเช้าก่อนละกันนะ

.

ในตอนแรก เราก็ว่าจะไปเสาะแสวงหาตัดชุดเช่าชุดแถวถนนตะนาว บางลำภู นี่แหละ
ที่ดูๆเอาไว้ก็คือร้าน ศุภยาลักษณ์ รวมไปถึงร้าน Fanony ด้วย
และเราค่อนข้างจะมีปัญหาคิดไม่ตกว่า จะเอากี่ชุด
เพราะส่วนหนึ่งก็อยากประหยัดงบชุดไม่ให้บานปลายไปมากกว่านี้
อีกส่วนหนึ่งก็ต้องการชุดที่แตกต่างกันระหว่างพิธีสงฆ์กับตอนหลั่งน้ำพระพุทธมนต์
ทำไมไม่ชุดเดียวไปเลย ก็เพราะว่าใจนึงก็อยากใส่ชุดไทยแบบโชว์ไหล่อะ
แต่ก็ไม่อยากโชว์ไหล่ให้พระดู ก็เลยอยากได้สองชุด ก็เกิด dilemma อีก

.

และแล้วไม่กี่เดือนก่อนงาน คุณน้าเจ้าบ่าว ท่านก็ได้แนะนำคนรู้จักให้
ได้แก่น้าหยี คุณสมชาย สกุลคู จากชมรมอนุรักษ์ผ้าไทย
ท่านเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านผ้าไทย และการนุ่งผ้าไทยที่ถูกต้อง
และต้องการจะเผยแพร่อนุรักษ์ผ้าไทยและการแต่งกายแบบไทยอยู่แล้ว
ท่านก็ได้มีเมตตามาเป็นธุระจัดการให้ตั้งแต่การวัดตัว เลือกผ้า ตัดเสื้อ และนุ่งในวันงาน
(ต้องขอบคุณพี่โต้ง ผู้ช่วยด้วยค่ะ)

.

แรกเริ่มเดิมที เราน่ะ อยากได้ชุดไทยเรียบๆ สไตล์ไทยจักร
และสไบขอเป็นผ้าเรียบๆเลย ให้อารมณ์แม่นกยูงเรือนมยุรา นั่นแหละ
และอยากได้สีขาวปลอดไปเลย ไม่ก็สีทองอร่าม
ว้อนมากเลย ตอนหลั่งน้ำนี่ ขอรีเควสสไบ

.

.

แต่พอได้คุยได้เห็นตัวอย่างผ้าของน้าหยีแล้ว
ก็สรุปกันว่า ชุดเจ้าสาว ให้เป็นสีกลีบดอกบัวดีกว่า ซึ่งใส่ขึ้นมาแล้วเข้ากับสีผิวเรามาก
(แต่ในรูปถ่ายมันกลายเป็นสีชมพู้ ชมพูไปเลย)
ส่วนเจ้าบ่าว ก็ match เสื้อสีงาช้าง เข้ากับผ้าโจงลายหางกระรอก เขียวเลื่อมน้ำตาล
เวลายืนคู่กันแล้วก็โอเคซิกกาแร็ตใช้ได้เลยแหละ

.

การเลือกสี นอกจากจะเลือกให้เข้ากับผิวเราแล้ว
ส่วนตัวเราว่าควรเลือกสีที่มันเน้น มีความตัดกันขึ้นมาอีกหน่อย
ไม่งั้นมันจะกลายเป็นชุดทีถึงสวย แต่ก็จะจืดเกินไปได้

.

แต่นอกจากนั้น น้าหยีก็ยังแก้ปัญหาความต้องการชุดสองชุดของเราได้อีก
นั่นก็คือ ให้ชุดมันดัดแปลงใส่ได้สามแบบ
แบบแรก บรมพิมาน สำหรับพิธีสงฆ์
แบบสอง ไทยศิวาลัย สำหรับพิธีหมั้น สวมแหวน
แบบสาม ไทยจักรี สำหรับพิธีหลั่งน้ำพระพุทธมนต์
โดยที่ใช้เสื้อหนึ่งตัว กับสไบหนึ่งผืน ทำ combination กัน
(สไบเขาห่มคลุมไหล่ซ้าย เปิดไหล่ขวา กันนะจ๊าาา)
และผ้าซิ่นใช้เปลี่ยนหน้าจีบสองครั้งไม่ให้เหมือนกัน
เราก็จะได้ชุดไทยสามชุด ไปโดยปริยาย
ส่วนเสื้อเรา จะไม่ใช่เป็นคอตั้งเต็มที่ เพราะคอตั้งทำให้เราคอตัน
แต่เป็นการแอบๆตั้งแล้วคอมันปาดแหลมลงมาที่ด้านหน้าเหมือนหยดน้ำคว่ำ
ส่วนเครื่องประดับ ชุดสองแบบแรก เราก็ใช้เป็นสร้อย
พอเปลี่ยนมาเป็นแบบสาม เราก็ใช้สังวาลย์แทนสร้อย
และใช้ต่างหูกับเข็มขัดเป็นตัวยืนพื้นทั้งสามชุด
ซึ่งทั้งหมดซื้อได้เป็นชุดเข้ากัน ที่ร้านสยุมพร ชั้น 2 ดิโอลด์ ในราคาพันกว่าบาทมั้ง

.

ส่วนชุดของว่าที่เจ้าบ่าว หลักๆเลยก็จะเป็นเสื้อปะแตนงาช้าง และนุ่งโจง
แต่จะมีเปลี่ยนผ้าพาดไหล่ มาเป็นผ้าคาดพุง ก็คือ ทำได้สองสไตล์

.

หมดปัญหาเรื่องชุดเหมาะกับพิธีแล้ว ณ บัดนาว ^^

.

เราใช้ 2 ครั้งในการคุยกับน้าหยีก่อนที่จะวัดตัว
และใช้ 3 ครั้งในการลองเสื้อ ลองนุ่งซิ่น
และในวันงาน น้าหยีก็ยังเมตตามาดูแลชุดตลอดพิธี
ถ้าใครสนใจให้น้าหยีดูแลเรื่องชุดไทยในพิธีแต่งงาน
ก็สามารถหาชื่อน้าหยี Somchai Sakulkoo ในเฟซบุคได้
เพราะน้าหยีก็ตั้งใจจะเผยแพร่เรื่องผ้าไทยอยู่แล้ว ลองคุยดู ไม่เสียหลาย
เพราะปรกติน้าหยีก็ชอบสอนนุ่งผ้าแบบไม่คิดตังอยู่แล้ว แฮะแฮะ

.

อ้อ ค่าชุดทั้งหมด เจ้าบ่าวเจ้าสาว อยู่ในงบไม่เกิน 2 หมื่นบาท
(น้าหยีไม่มีให้เช่าชุด มีแต่ตัดและเลือกผ้าไปเลย)
ขึ้นอยู่กับชนิดของผ้า และลีลาการยกดอก ปักดิ้น ลายบนผ้า ด้วย
ถ้ายิ่งเป็นผ้าโบราณ ลายหายาก ทำมือ ราคาก็จะสูงขึ้นไปอีก
ทั้งนี้ สามารถปรึกษาน้าหยีเกี่ยวกับงบที่มีได้ด้วย

.

.

ต่อมา ชุดงานเลี้ยงเย็น ตามสากลนิยม

.

เราเริ่มต้นการเสาะหาชุด ด้วยการไปลองชุดที่ร้านซิมเบอลีน ห้างเพนินซูล่า
(ที่อยู่ตรงราชดำริ และห้างเพนินซูล่า ไม่ใช่เจ้าของเดียวกับ โรงแรมเพนินซูล่า นะ)
การลองชุดครั้งแรกมันน่าตื่นเต้น
การที่ได้รู้สึกว่าจะได้ใส่ชุดแต่งงานประมาณนั้นแหละ ในเร็ววัน มันก็แปลกดี
ก็เอาล่ะ เราไปลองก่อนละกัน
ที่ร้านนี้ เป็นชุดแต่งงานอิมพอร์ตมาจากยุโรปล้วนๆ และไม่มีบริการตัด ซื้ออย่างเดียวโลด

.

.

เราลองชุดที่ร้านชุดแต่งงานอย่างเดียว ไม่ไปสตูดิโอแต่งงานเลย
เหตุผลก็คือ เราไม่ต้องการการแอดเซลล์อย่างอื่นเพิ่มอีก
และเราค่อนข้างมีความต้องการชัดเจนว่าต้องการชุดใหม่

.

ไปๆมาๆเราก็รู้สึกไม่ลงตัวกับชุดที่ซิมเบอลีน
(ไม่ใช่ไม่สวย แต่ด้วยหลายๆอย่างเลยทำให้เราตัดสินใจไม่เลือกชุดที่นี่ดีกว่า)
เราจึงเริ่มหาร้านตัดชุดแต่งงานเป็นจริงเป็นจัง
และค่อยๆตัดตัวเลือกออกจนเหลือร้านเข้ารอบอยู่ไม่กี่ร้าน

.

เมื่อเรามีเป้าหมายที่จะไปลองชุดตัดชุดแล้ว
ก็ควรจะหาชุดชั้นในตัวที่เล็งจะใส่ในวันงานไปเลย
เพื่อให้การฟิตติ้งเป็นไปอย่างพอดีที่สุด (รวมไปถึงตอนลองชุดไทยด้วย)
ยิ่งการฟิตติ้งลองชุดที่เป็นผ้าจริง การใช้ชุดชั้นในตัวจริงด้วยจะเวิร์คสุดแล้ว
หรือถ้าจะไม่ใช่ โนบราเอา ก็ได้อีก เพราะชุดแต่งงานส่วนใหญ่มีโครงรองรับไว้อยู่แล้ว
(ส่วนชุดไทย ไม่มีโครง ควรจะใส่ชั้นในแหละ ถ้าจะใส่สไบก็ให้ใช้เป็นแบบถอดสายได้
ในกรณีที่ไม่ใช่สไบสำเร็จรูปแบบที่เย็บติดกับเสื้อด้านใน)
และถ้าเป็นไปได้ กำหนดไปเลยว่า วันจริงเราจะใส่รองเท้ากี่นิ้ว
เพื่อเวลาวัดตัวตั้งแต่แรก เขาจะได้เผื่อความยาวลากของชายกระโปรงไว้ให้
ในกรณีที่เป็นชุดยาว

.

เราใช้บริการตัดเช่าชุดแต่งงานที่ Saree Bridal Idea
อยู่ตรงโครงการบ้านสีลม ซอย19
เราปิ๊งชุดเขาในโฆษณาที่เขาลงไว้ในนิตยสาร We
(นิตยสารนี้บางทีก็มีประโยชน์ในการหา supplier อย่างนี้แหละ
ส่วนความอลังของพวกคู่แต่งงานที่เขาเอามาลง ไม่จำเป็นต้องไปเลียนแบบ)
ก่อนหน้านี้เราก็มีดูๆร้านที่เป็น sponsors ใน weddingsquare เอาไว้บ้าง
และได้ผู้เข้าชิงรอบสุดท้ายเป็นร้าน Fullrich ของน้องตั๊ก
ที่กิตติศัพท์ร่ำลือทางด้านความคุ้มราคา ความจริงใจ การบริการ และฝีมือ
และยังมีหาๆรีวิวของร้าน Peter Kelly ที่สยามสแควร์เอาไว้
เพราะน้องที่รู้จักกันเขาตัดที่นี่ แล้วเขาก็แนะนำมา

.

สุดท้ายก็เลือกไป Saree Bridal Idea ก่อน แล้วก็ตกลงใจกับที่นี่ไปเลย
ที่เลือกไปก่อน Fullrich ก็เพราะว่าพิกัดของ Fullrich มันไกลบ้านมากกก
ถ้าไปแค่ครั้งสองครั้งก็อาจจะโอเค แต่การตัดชุดแต่งงานมันต้องไปที่ร้านมากกว่านั้น
และที่เลือกไปก่อน Peter Kelly ก็เพราะรีวิวมีทั้งคนชอบมาก และคนบ่น
ก็เลยไม่แน่ใจ ก็เก็บไว้เป็นตัวเลือกอันดับสอง

.

ส่วน Saree Bridal เราหาคนรีวิวในเน็ตไม่เจอเลย
และไม่ได้เป็นสปอนเซอร์ใน Weddingsquare ด้วย
แต่ที่ยังไปและเลือกเป็นอันดับแรกที่จะไป
ก็เพราะเรื่องทำเลที่ไปสะดวกกว่า และแบบที่เขามีมันถูกใจเรา
มันอาจจะเป็นอะไรที่ไม่มีเหตุผลก็ได้ แต่จะเรียกว่าเป็น image ที่เรา percieve ล่ะมั้ง
และพอไปถึง เราก็ค่อนข้างโอเคในบริการของพี่เดียร์กับพี่จัน
และค่อนข้างเชื่อมั่นว่า น่าจะตัดออกมาในแบบที่ทางเราและว่าที่เจ้าบ่าวแนะนำได้
ทางร้านมีบริการครบ ทั้งให้เช่า ตัดเช่า และตัดซื้อ
รวมไปถึงชุดราตรีอื่นๆ และสูทของเจ้าบ่าวด้วยนะ

.

อ้อ ที่นี่ยังมีรับบริการถ่ายรูปพรีเวดด้วยนะ ดูจากอัลบั้ม ฝีมือก็ใช้ได้เลย

.

ครั้งแรกที่ไป ลองชุดที่มีในร้านเพื่อดูแนวโน้มเสร็จ และตกลงปลงใจเรียบร้อย
เพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลา
ก็จัดการวัดตัวกันโดยละเอียดเลย  และเลือกเนื้อผ้าตอนนั้น
ว่าที่คนไหนกลัวว่าวัดตัวจะไม่แม่นเพราะเพิ่งเริ่มลดน้ำหนัก
ก็ไม่ต้องกังวลไป ที่ที่เขาเป็นมืออาชีพ ชำนาญแล้ว เขาก็จะพอกะให้ได้
และเขาก็จะบอกว่า ส่วนใหญ่เจ้าสาวก็จะผอมลงทั้งนั้น
ไว้ค่อยๆปรับไซส์ไปจนพอดีในวันจริงได้

.

และจากวันนั้นก็ใช้เวลาประมาณ 3-4 สัปดาห์ในการขึ้นโครงผ้าดิบ
โครงผ้าดิบนี่ก็คล้ายๆแบบสเกตช์ของชุดเราในขนาดเท่าของจริง สวมลองได้
ข้อดีคือมันพอจะช่วยให้เห็นว่า Outline ของชุดมันเป็นไปตามที่ต้องการหรือเปล่า
มีอะไรขาดมีอะไรเกินบ้างไหม
(ขั้นตอนนี้ ถ้าใครกะจะโนบราวันจริง ก็ให้ใส่บรามาก่อน เพราะว่าผ้าดิบมันบาง)

.

.

จากนั้นอีก 3-4 สัปดาห์ ถึงจะกลายเป็นผ้าสเป็กจริง เราก็กลับมาลองกันอีกที
ดูว่าพอเป็นผ้าจริงแล้ว เราจะมีอะไรปรับเปลี่ยนอีกหรือเปล่า
ซึ่งแน่นอน มันมักจะมีแหละ ก็แก้กันไปนะ
ซึ่งเมื่อเห็นผ้าจริงแล้ว ยอมรับเลยว่า ทางร้านทำออกมาได้ดีมาก
รู้สึกคิดถูกมากๆที่เชื่อสัญชาตญาณ ใช้ร้านนี้
และคิดถูกมากๆที่เลือกผ้าโทนถูกกับสีผิวเลย

.

เราไม่ได้ต้องการชุดฟูฟ่องเพราะไม่เหมาะกับบุคลิกเรา
บุคลิกเราต้องเป็นชุดที่เรียบแต่มีรายละเอียด แอบน่ารัก แอบหวานนิดนึง ไม่เยอะ
และได้แรงบันดาลใจจากชุดที่ถูกใจที่ซิมเบอลีนมา
จึงกลายเป็นชุดแบบที่เห็นๆกันอยู่
งานนี้ต้องขอบคุณคุณว่าที่เจ้าบ่าวด้วยที่ช่วยออกไอเดียดีๆให้กับชุดของเรา

.

จากนั้นอีก 3-4 สัปดาห์ ช่วงนั้นน้ำท่วม เราหลบไปอาบแดดที่ต่างจังหวัด
พอกลับมาลองชุดอีกที รูดซิปไม่ขึ้น! เหลืออีกค่อนฟุตเลยง่าาาา
ตอนนั้นอีกหนึ่งเดือนจะถึงวันงานแล้ว
เราสัญญากับพี่จันไว้ว่าเราจะลดน้ำหนักให้ได้ อย่าเพิ่งแก้ชุดให้หลวมขึ้นน้าาา ^^”
และในที่สุดเราก็ทำได้ (โดยที่จริงๆพี่จันก็แอบขยายให้นิดนึงอยู่ดี)
โดยลองครั้งสุดท้าย 3 สัปดาห์ถัดมา
และไปรับชุดจริงๆที่เก็บเนี้ยบเรียบร้อยแล้ว ก็อีกสองวันก่อนวันงาน
(ต้องวางมัดจำด้วย 1 หมื่นบาท ซึ่งตรงนี้เข้าใจล่ะ)
พอเสร็จงาน ก็ต้องรีบไปคืนอีก จะได้รีบเอา 1 หมื่นคืนมา คิคิ

.

.

ตอนลอง เราสามารถเอาเครื่องประดับที่เราจะใช้มาลองด้วยก็จะดีมาก
เพราะเราจะได้รู้เลยว่า เครื่องประดับที่เรามี มันตีกับชุดหรือเปล่า
ถ้ามันไม่เวิร์คจะได้หาเปลี่ยนตั้งแต่เนิ่นๆ

.

สรุปรวมแล้ว ไปร้าน Saree Bridal ทั้งหมด 7 ครั้ง
จึงเป็นสาเหตุว่า ทำไมเราควรใช้บริการร้านชุดแต่งงานที่เราเดินทางไปมาสะดวก
ถึงจะเป็นการเช่า เราก็ว่า ก็ต้องไปอย่างน้อยที่สุด 2 ครั้ง
คือวันไปเอา กับวันไปคืน

.

ชุดเราไม่ได้ฟูฟ่องเป็นฟองแฟ้บ
แต่ออกจะเน้นการตัดเย็บที่เรียบร้อย ค่อนข้างแสดงฝีมือของช่างเลยล่ะ
ถ้าใครชอบชุดในแบบที่ไม่ต้องเยอะ อะไรมาก ร้านนี้ก็เป็นอีกทางเลือกนึงนะ
แต่ถ้าใครชอบฟูฟ่อง หรูหรา อะวังการ์ด เท่าที่ดู ร้านเขาก็ทำได้อีกแหละ
แต่ร้านนี้ ไม่ใช่ร้านที่เอาปริมาณเข้าสู้ และ position ตัวเองเอาไว้ในอีกแบบหนึ่ง
จึงยากที่จะหวังว่าจะได้ตัดเช่าในราคาที่ต่ำกว่าสามหมื่น
(ชุดเราสี่หมื่นถ้วน ตอนนี้กลับไปแขวนที่ร้านเป็นที่เรียบร้อยรอคนเช่าต่อแล้ว)
หรือถ้าใครจะเช่าชุด ร้านนี้ก็เหมือนจะให้เช่าชุดละไม่เกิน 4-5 ครั้ง
แล้วก็จะโละไปให้ร้านอื่นๆที่ทำกิจการให้เช่าชุดในราคาย่อมเยาลงมา
เท่าที่เราดูชุดที่ร้านเขา จึงมักเจอแต่ชุดที่สภาพยังดีๆเหมือนใหม่อยู่เลยล่ะ

.

.

ส่วนชุดเจ้าบ่าว สตอรี่น้อยมากเลย ไปซื้อที่ ctw อะ จบ 555

.

จริงๆก็มีทริคนิดนึงล่ะ คือ สูทซื้อทั้งที ถ้าซื้อให้ใส่ได้ในงานอื่นๆด้วยก็คุ้มเนาะ
แต่ถ้าเนื้อผ้าธรรมดาเกิน สีธรรมดาเกิน
ก็อาจจะแยกไม่ออกว่านี่แขกมางานหรือว่าส่วนหนึ่งของแบ๊คดร็อป
ก็อาจจะซื้อชุดสูทแบบที่ผ้ามันมีความวาว เงา เด่นขึ้นมาอีกหน่อย
ไม่ต้องเยอะมากก็ได้ เว้นแต่ว่า ธีมงานมันควรจะเยอะจริงๆ

.

มาดูผลงานกัน

.

.

.

.

.

.

รองเท้า

มาถึงเรื่องสุดท้าย คือเรื่องรองเท้า

.

รองเท้าเจ้าบ่าวก็ไม่มีปัญหาอีก ซื้อ ctw อะ จบ 555
ใช้ได้ทั้งงานเช้าและเย็น

.

แต่รองเท้าเจ้าสาวนี่ เรามีโจทย์ว่า ให้ใช้ได้ทั้งงานเช้าและงานเย็น
เก็บไว้ใช้ไปงานคนอื่นได้ด้วย และต้องอยู่ทนโดยไม่กัดสักแอะด้วย
เราก็ได้สั่งตัดรองเท้าแบรนด์ Sirena ที่อยู่ข้างๆร้าน Saree นี่แหละ
เป็นครั้งแรกที่สั่งตัดรองเท้า แล้วมันเวิร์คมากเลยนะ
เพราะเท้าที่แม้แต่รองเท้าแตะยังกัดแบบเรานี่ หารองเท้าใส่ทนยากมาก
เพราะเป็นคนเท้าบาง และนิ้วเท้ายาว (น้องพนักงานเห็นแล้วถามว่า นี่นิ้วมือป่าวคะ -_-”)
ฉะนั้น ระยะยกส้นของรองเท้าสำเร็จรูปทั่วไป จึงไม่เป็นอะไรที่พอดีสนิทกับเท้าเราเลย

.

และจากตอนแรกที่ตั้งใจว่าจะใส่ส้นสัก 5 นิ้ว เพราะตัวเล็กกว่าชาวบ้านเขา
ก็เป็นอันต้องหดมาเป็น 3.5 นิ้ว ด้วยแรงต้านจากคุณแม่และคุณน้า คุณอื่นๆ
ว่ามันจะทำให้เมื่อยและยืนไม่ทน
ก็ดีนะที่เชื่อผู้ใหญ่ 3.5 นิ้ว ยกพื้นหน้าสูงหน่อยทำให้ไม่เมื่อยนัก
และเอาเข้าจริงๆ แกคิดเหรอ (บอกกับตัวเอง)
ว่าสูงขึ้นมาอีก 1.5 นิ้วจะทำให้ดูสูงกว่าชาวบ้านน่ะ -_-”
มันก็ไม่แตกต่างอะไรกันมาก และในเมื่อไม่แตกต่างมาก ก็เอาแบบที่เมื่อยน้อยกว่าดีกว่าอ้ะ

.

เอาเข้าจริงๆ เราก็แอบถอดรองเท้าทีละข้างตอนที่ยืนถ่ายรูปเหมือนกันนะ ^^”
แต่ก็นั่นแหละ ขนาดรู้สึกว่ารองเท้ามันใส่สบายแล้วนะ
ตรงนี้ ไม่รู้เหมือนกัน บางคนอาจจะชินกับส้นสูง และมีความอดทนกว่าเรา
แต่เราก็ไม่อยากเป็นเจ้าสาวที่หน้าชื่นเท้าตรม ก็เลยต้องลงทุนหารองเท้าดีกันหน่อย

.

เราตัดรองเท้า sirena มาในราคา 4000 (กัดฟัน กรอดๆ)
แต่เราก็คิดว่า ถ้ามันใส่ดีอย่างนี้ มันคงเป็นรองเท้าที่เราหาเรื่องใส่ไปตามงานอื่นได้เรื่อยๆแหละ

.

.

.

.

.

สิริรวมต้นทุนชุดแต่งงานเช้าเย็น ของเจ้าบ่าวและเจ้าสาว
เราตีตัวเลขเป็นกลมๆไปเลยนะ จะได้คิดง่ายๆ

.

งานเช้า 18000 – น้าหยี
เครืองประดับงานเช้า 1200 – สยุมพร
เจ้าบ่าวงานเย็น 18000 – ctw
เจ้าสาวงานเย็น – 40000 – Saree bridal
รองเท้าเจ้าบ่าว 2000 – ctw
รองเท้าเจ้าสาว 4000 – Sirena

.

รวมทั้งสิ้น 83,200 บาท

.

สำหรับว่าที่เจ้าบ่าวเจ้าสาวที่ต้องรัดเข็มขัดงบประมาณมากกว่านี้
อย่างที่บอก เรามีทางเลือกอีกเยอะเลยนะ ไม่ว่าจะหันไปเช่าชุดดีกว่าตัดเช่า
อาจจะประหยัดได้มากกว่านี้หลายหมื่น
และให้ผลที่พึงพอใจสำหรับตัวเองเหมือนกัน
เพราะนี่แค่ชุดเจ้าสาวงานเย็นก็เป็นครึ่งนึงของงบประมาณข้างบนไปแล้ว
ถ้าเปลี่ยนเป็นเช่าชุด สมมติว่า เช่าในราคา 1 หมื่น งบก็จะฮวบไปเลย 3 หมื่นนะเออ
แล้วถ้าเจ้าบ่าวมีชุดสูทอยู่แล้ว จะเอามาใช้ในงานด้วย หรือเช่าในราคา 3 พันบาท
งบก็ฮวบลงไปอีกตั้งหมื่นกว่าบาท
เพราะฉะนั้น อย่าเพิ่งตกใจไปกับงบประมาณส่วนตัวที่เราใช้ไปกันเด้อ

.

.

คราวหน้ามาเรื่องเบาๆกันบ้าง อย่างเรื่องพรีเวดดิ้ง พรีเซนต์ ในแบบของเราๆ : -)

.

.

.

One thought on “มหากาพย์ เตรียมงานแต่งงาน #MaliMeekob (11) – ชุดแต่งงาน

Add yours

Leave a comment

Blog at WordPress.com.

Up ↑